วันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

อากาศเป็นพิษ

                                                          อากาศพิษ  
                                              
                นอกจากปัจจัยสี่ ซึ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตแล้ว เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเราก็ต้องการอากาศดีๆ เพื่อใช้ในการหายใจเช่นกัน  แต่ในยุคปัจจุบันแล้ว อากาศที่เราหายใจมีสารปนเปื้อนอยู่มากมายทั้งฝุ่นละออง เชื้อโรคและก๊าซพิษ  ซึ่งก๊าซพิษเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงนั่นเอง ก๊าซเหล่านี้ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนนอกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ตะกั่ว เป็นต้น  นอกจากนี้การเผาไหม้เลื้อเพลิงที่ไม่สมบูรณ์ยังทำให้เกิดสารประกอบอินทรีย์ชนิดระเหยได้ที่เป็นพิษต่อร่างกายเราเช่นกัน
                มลพิษในอากาศส่วนใหญ่จะอยู่ในชั้นบรรยากาศที่ใกล้พื้นโลกมากที่สุด นั่นคือชั้นโทรโปสเฟียร์ ซึ่งกินพื้นที่จากผิวโลกขึ้นไปประมาณ 16 กิโลเมตร ในปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ จะทำให้อากาศเกิดการแบ่งชั้นตามอุณหภูมิโดยอากาศที่เย็นกว่าจะถูกกักไว้ชั้นล่าง โดยอยู่ใกล้กับผิวโลก   ในขณะที่อากาศที่ร้อยกว่าอยู่ข้างบน  ในสภาพดังกล่าวนั้นมลพิษจะถูกกักเก็บไว้ที่อากาศชั้นล่างและจะไม่มีการผสมกันของอากาศตามธรรมชาติ
                Smog (มาจากภาษาอังกฤษคำว่า smoke + fogถือเป็นกลุ่มหมอกควันที่เป็นมลภาวะทางอากาศอย่างหนึ่ง ซึ่งมลพิษถูกกักเก็บไว้ในอากาศเนื่องจากปรากฎการณ์เปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ซึ่งมลพิษเหล่านี้เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง ถ่านหิน น้ำมัน  นอกจากนี้ยังเกิดได้จากการทำปฎิกิริยาของแสงกับออกไซด์ของไนโตรเจนและสารประกอบอินทรีย์ชนิดระเหยได้    
                ที่จริงแล้ว smog  ประกอบด้วยโอโซน ซึ่งโอโซนในบรรยากาศชั้นล่าง (โทรโปสเฟียร์) ถือว่าเป็นอันตรายต่อร่างกาย  ทำให้เกิดความระคายเคืองที่ปอด ตลอดจนเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทั้งพืชและสัตว์ 
หมายเหตุ  โอโซน ประกอบด้วยโมเลกุลของออกซิเจน 3 อะตอม (ซึ่งมากกว่าออกซิเจนทั่วไปที่มีแค่ 2 อะตอม)    
                ปริมาณโอโซน เป็นตัวบ่งชี้ถึงความรุนแรงของมลภาวะได้  เนื่องจากปริมาณโอโซนในชั้นโทรโปสเฟียร์ที่มีมากขึ้น  หมายถึงปริมาณมลพิษอื่นๆในอากาศที่มากขึ้นด้วย เช่น ปริมาณของคาร์บอนมอนนอกไซด์  
                เมื่อความชื้นในอากาศรวมกับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ หรือออกไซด์ของไนโตรเจน จะเกิดเป็นกลุ่มหมอกควันที่มีสภาพเป็นกรด ซึ่งเป็นอันตรายต่อปอด และยังสามารถกัดกร่อนโลหะ ตลอดจนหินอ่อนได้อีกด้วย   ในผู้ป่วยหอบหืดและโรคหัวใจจะมีอาการแย่ขึ้นเมื่อสูดเอากลุ่มควันพวกนี้เข้าไป จะทำให้ปวดศีรษะ มึนงง หายใจลำบาก
                นอกจากอากาศเป็นพิษอย่างที่เราเข้าใจกันแล้ว ปัญหาใหญ่ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลกที่เราต้องรวมมือร่วมใจกันแก้ไขก็คือ การที่ชั้นบรรยากาศถูกทำลาย  จากที่กล่าวแล้วถึงในชั้นบรรยากาศที่ใกล้พื้นโลกมากที่สุด หรือโทรโปสเฟียร์  แล้วถัดจากบรรยากาศชั้นนี้ขึ้นไป(จากความสูงเหนือระดับพื้นโลก 16-50 กิโลเมตร นั้นเป็นชั้นบรรยากาศ สเตรโตสเฟียร์ ซึ่งเป็นชั้นที่ประกอบด้วยโอโซนจำนวนมาก(โอโซนในชั้นนี้มีโมเลกุลเหมือนโอโซนในชั้นโทรโปสเฟียร์)  แต่โอโซนที่ชั้นบรรยากาศนี้ เปรียบเสมือนด่านปราการที่ปกป้องโลกจากรังสีUV-B จากดวงอาทิตย์  รังสีUV-Bนั้นสามารถทำลายรหัสพันธุกรรมหรือDNA ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของมะเร็ง    ในปัจจุบันนี้ชั้นโอโซนดังกล่าวถูกทำลายไปจำนวนมากเนื่องจากสารเคมีบางอย่าง เช่น สารCFC , ไนตรัสออกไซด์(พบในพวกปุ๋ย)เมทิล โบรไมด์ (พบในยาฆ่าแมลง)    
                CFC หรือสารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน(เป็นสารหลักที่ทำลายโอโซน) ซึ่งเป็นก๊าซที่เกิดจากตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ กระป๋องสเปรย์    CFCเป็นก๊าซที่ไม่สลายตัวไปง่ายๆ สามารถลอยขึ้นไปถึงชั้นสเตรโตสเฟียร์   และที่นี่เมื่อสาร CFC รวมตัวกับรังสีUV   สารCFCจะแตกตัวได้เป็นคลอรีน  เมื่อคลอรีนรวมตัวกับโอโซนในชั้นบรรยากาศ จะเกิดเป็นออกซิเจน  (O2) ซึ่งไม่สามารถดูดซับรังสีUV-B ได้อย่างโอโซน
หมายเหตุ  คลอรีน 1 โมเลกุล สามารถทำลายโอโซนในชั้นสเตรโตสเฟียร์  ได้ถึง 100,000โมเลกุล   
ปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse effect) 
                ก๊าซที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์เรือนกระจก ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์(เกิดจากการเผาไหม้ถ่านและน้ำมัน)  มีเทน  ไนโตรเจนออกไซด์และCFC    ซึ่งก๊าซเหล่านี้จะยอมให้แสงอาทิตย์ผ่านมายังพื้นโลกได้ แต่จะสะท้อนกลับความร้อนจากผิวโลกไม่ให้สามารถผ่านออกไปได้ ดังนั้นจึงทำให้อุณหภูมิที่ชั้นบรรยากาศและผิวโลกสูงขึ้น
                อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ส่งผลให้อากาศแปรปรวน ทำให้เกิดน้ำท่วม  พายุกำลังแรง และภาวะแห้งแล้งที่ยาวนานขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกละลาย ประมาณการณ์ว่า ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้น 9- 100 เซนติเมตรภายในปี 2100 และถ้าเป็นไปตามนั้น รัฐฟลอริดาจะอยู่ใต้น้ำในศตวรรษหน้า  และโรคมาลาเรียที่เคยแพร่ระบาดเฉพาะในเขตร้อนชื้น จะแพร่ไปยังทุกบริเวณทั่วโลก  พืชและสัตว์บางชนิดจะสูญพันธ์ เนื่องจากอุณหภูมิที่เปลี่ยนไปทำให้สภาวะแวดล้อมเปลี่ยนไป
อันตรายจากก๊าซพิษต่างๆ
                คาร์บอนมอนอกไซด์ เป็นก๊าซที่ไม่มีกลิ่น ไม่มีสี  หลังจากที่เราสูดดมก๊าซชนิดนี้เข้าไป  ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์จะเข้าสู่กระแสเลือด และจะขัดขวางการลำเลียงออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย  ถ้าร่างกายได้รับเพียงเล็กน้อยจะทำให้มึนงง ปวดศีรษะ เหนื่อยง่าย แต่ถ้าได้รับในปริมาณมากอาจถึงแก่ชีวิตได้
                แหล่งที่มาของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์คือพวกเชื้อเพลิงที่มีคาร์บอน รวมถึงน้ำมันเบนซินน้ำมัน และไม้ ซึ่งก๊าซชนิดนี้เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือที่เกิดขึ้นจากสารสังเคราะห์ เช่น การสูบบุหรี่เป็นต้น
                คาร์บอนไดออกไซด์ เป็นสาเหตุสำคัญที่เกี่ยวข้องกับปรากฎการณ์เรือนกระจก  แหล่งที่มาของก๊าซส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ อันได้แก่ การเผาไหม้ถ่าน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ  ถ้าเราสูดดมก๊าซชนิดนี้ในปริมาณมากจะทำให้เราหายใจถี่ขึ้น หมดสติ หรือถึงแก่ชีวิต
                คลอโรฟลูออโรคาร์บอน หรือ CFC  เป็นสารเคมีที่ใช้วงการอุตสาหกรรม อาทิเช่น ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ  เมื่อก๊าซชนิดนี้ถูกปล่อยขึ้นสู่อากาศจะขึ้นไปสู่ชั้นสเตรโตสเฟียร์ ซึ่งเป็นชั้นบรรยากาศที่อยู่เหนือจากโลกขึ้นไปอีก  ซึ่งในชั้นบรรยากาศชั้นนี้ สารCFCจะทำลายโอโซนที่เปรียบเสมือนป้อมปราการที่ปกป้องโลกจากรังสีอันตรายของดวงอาทิตย์(รังสี UV)    ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของพวกเราที่จะต้องช่วยกันลด ละ เลิกการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดสารCFC ที่ทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ
                ตะกั่ว เป็นโลหะหนักที่เป็นอันตรายต่อร่างกายโดยเฉพาะในเด็ก เนื่องจากตะกั่วจะทำลายระบบประสาทและระบบย่อยอาหาร ตลอดจนเป็นสาเหตุของมะเร็ง   ซึ่งร่างกายของเราได้รับสารตะกั่วผ่านทางการหายใจและทางเดินอาหาร  แหล่งที่มาของสารตะกั่วได้แก่ สี โรงงานแบตเตอรี่ โรงงานเซรามิก ท่อประปา
                โอโซน  เป็นก๊าซที่ประกอบด้วยออกซิเจน 3 อะตอม (ในขณะที่ก๊าซออกซิเจนในอากาศ ปกติ ประกอบด้วยออกซิเจน 2 อะตอม)  โอโซนในบรรยากาศชั้นสเตรโตสเฟียร์ซึ่งเป็นชั้นบรรยากาศที่อยู่เหนือจากโลกที่ระดับ 16-50 กิโลเมตรนั้นเป็นม่านกรองรังสีUVที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์  ในขณะที่โอโซนในชั้นบรรยากาศโทรโปสเฟียร์ซึ่งอยู่ใกล้ผิวโลกมากที่สุดนั้นเป็นต่อทั้งมนุษย์ สัตว์และพืช  เนื่องโอโซนจะทำให้ทางเดินหายใจระคายเคือง  ไอต่อเนื่อง  ทำให้ปวดหน้าอก  ไม่สามารถที่จะหายใจลึกๆยาวๆได้  ทำให้ปอดติดเชื้อได้ง่าย
                โอโซนในชั้นบรรยากาศที่อยู่ใกล้ผิวโลกนั้นเกิดจากการแตกตัวของสารประกอบอินทรีย์ซึ่งสามารถระเหยได้  รวมถึงเป็นผลพลอยได้จากปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นระหว่างสารเคมีในการเผาไหม้ถ่าน น้ำมันเบนซิน เชื้อเพลิงต่างๆ  รวมถึงยานพาหนะและโรงงาน
                ไนโตรเจนออกไซด์  เป็นก๊าซพิษที่พบในกลุ่มหมอกsmog  และฝนกรด  ถ้าได้รับไนโตรเจนออกไซด์ปริมาณมาก จะทำให้หายใจลำบาก ไอและเป็นอันตรายต่อทางเดินหายใจ  สำหรับฝนกรดนั้นเป็นอันตรายต่อพืช ผัก    ก๊าซชนิดนี้เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง รวมถึงน้ำมันเบนซินและถ่านหิน
                ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นก๊าซที่ไม่มีกลิ่นในกรณีที่ความเข้มข้นต่ำ ในขณะที่ความเข้มข้นสูงจะมีกลิ่นรุนแรง   ก๊าซชนิดนี้เกิดจากกการเผาไหม้ถ่านหิน รวมถึงเป็นของเสียที่เกิดในโรงงานผลิตกระดาษ โรงหลอมโลหะ  ก๊าซชนิดนี้พบได้ในกลุ่มหมอกและฝนกรด  เนื่องจากซัลเฟอร์ไดออกไซด์ทำให้เกิดกรดซัลฟิวริกซึ่งเป็นกรดรุนแรง สามารถกัดกร่อนพืชและโลหะ ตลอดจนเป็นอันตรายต่อปอดและทางเดินหายใจ
                สารประกอบอินทรีย์ระเหยได้  สารเหล่านี้ประกอบอินทรีย์ ซึ่งมีคาร์บอน ตลอดจนสารอินทรีย์อื่นๆที่เป็นองค์ประกอบของสิ่งมีชีวิต  ทั้งนี้สารประกอบอินทรีย์ระเหยได้หลายชนิดไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เกิดจากขบวนการสังเคราะห์ในห้องทดลอง   สารเหล่านี้จะระเหยเป็นไอได้ง่ายแม้ที่อุณหภูมิห้อง
                ตัวอย่างของสารประกอบอินทรีย์ระเหยได้ ได้แก่น้ำมันเบนซิน เทอลูอีน ไซลีน เปอร์คลอโรเอทธีลีน(สารละลายที่ใช้ซักแห้ง)  สารเหล่านี้เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง น้ำมัน ไม้ ถ่าน ก๊าซธรรมชาติและพบได้ในสารทำลายของสี กาวและของใช้ในบ้านต่างๆ  ตลอดจนการเผาไหม้ของยานพาหนะ  ซึ่งสารเคมีเหล่านี้เป็นอันตรายต่อชีวิต และเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็ง
เราจะช่วยลดมลพิษในอากาศได้อย่างไร
                วิธีการลดมลพิษในอากาศนั้นมีหลายวิธีด้วยกัน และเนื่องจากยานพาหนะที่เราใช้อยู่ในชีวิตประจำวันนั้นเป็นแหล่งของก๊าซหลายชนิดด้วยกัน ทั้งคาร์บอนมอนอกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ โอโซน สารประกอบอินทรีย์ระเหยได้ CFC ผงฝุ่น   ดังนั้นจึงนับเป็นเรื่องใกล้ตัวเราอย่างมาก
                วิธีที่ดีที่สุดในการลดมลพิษทางอากาศ คือ พยายามใช้รถให้น้อยที่สุด เปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งมวลชนแทนการใช้รถส่วนตัว   เลือกที่เดินหรือปั่นจักรยานแทนการใช้รถ ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัด ไม่ทำให้เกิดมลพิษแล้ว ยังทำให้คุณมีสุขภาพแข็งแรง
                ในกรณีที่ต้องใช้รถ เราก็มีวิธีช่วยลดมลพิษ ดังนี้
        ๏หลีกเลี่ยงการขับด้วยความเร็วสูง
        ๏เลือกใช้พาหนะที่ประหยัดน้ำมัน
        ๏อย่าเติมน้ำมันจนล้นถังบรรจุเชื้อเพลิง
        ๏เลือกใช้รถใหม่แทนการใช้รถเก่า เนื่องจากรถรุ่นใหม่ทำให้เกิดมลพิษน้อยกว่ารถรุ่นเก่า
        ๏หมั่นดูแล ตรวจสอบรถให้อยู่ในสภาพดีเสมอ
       ๏ เช็คลมยางให้พอเหมาะ
        ๏ดูแล เช็คระบบเครื่องปรับอากาศภายในระวัง อย่าให้มีรอยรั้ว
        ๏วางแผนการใช้เส้นทาง ก่อนการออกเดินทางทุกครั้ง
นอกจากเรื่องของรถ เราสามารถลดมลพิษทางอากาศด้วยวิธีอื่นได้อีก
α ปลูกพืชด้วยวิธีเกษตรอินทรีย์ หรือใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงให้น้อยที่สุด
α หลีกเลี่ยงการซักแห้ง
α  ลดการใช้กระแสไฟฟ้า เท่ากับเป็นการลดปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ สารประกอบอินทรีย์ระเหยได้
            นอกจากก๊าซพิษแล้ว  ในอากาศยังมีเศษผง ฝุ่นละอองมากมาย  ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เพราะฝุ่นละอองเหล่านี้ จะรบกวนการทำงานของทางเดินหายใจ  ทำให้ไอ ทำให้ปอดอักเสบ  หายใจลำบากซึ่งในภาวะดังกล่าวเหล่านี้จะพบจำนวนเม็ดเลือดขาวในร่างกายที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นตามกลไกการตอบสนองของร่างกาย เพราะเม็ดเลือดขาวนั้นเปรียบเสมือนทหารที่เคยทำหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมที่ผ่านเข้ามา
                  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น